เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว “พร้อมก้าวสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ” ว่า ช่วงปลายปี เป็นช่วงที่อากาศเย็นลงและมีการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ กรมควบคุมโรค จึงต้องอัพเดตสถานการณ์และการป้องกันโรคที่มีแนวโน้มจะพบการระบาด
1.โรคโควิด-19 มักระบาดเพิ่มในช่วงปลายปีตามที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ. 730 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีผู้ป่วย 577 ราย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะเป็นกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค
โดยสายพันธุ์ที่ระบาดในไทยคือ JN.1 สัดส่วนร้อยละ 26.5 KP3.1 ร้อยละ 16.2 และ XEC ร้อยละ 19.1 อย่างไรก็ตามในตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังไม่มีข้อมูลว่าโรคมีความรุนแรงขึ้น จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
2.โรคไข้หวัดใหญ่ แนวโน้มผู้ป่วยช่วงปลายปีนั้น ดูเหมือนจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงฤดูฝน แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะหากดูสถานการณ์ปี 2566 จะพบว่าช่วงปลายปี จะมีการระบาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่จะระบาดในโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มอายุที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ อายุ 5-9 ปี ขณะที่ผู้เสียชีวิตในปี 2567 พบ 48 ราย เกินครึ่งเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค และเป็นผู้สูงอายุ ส่วนสายพันธุ์ที่มีการระบาดสูงสุดคือ สายพันธุ์ A/H1N1 ขณะที่ การป้องกันโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่นั้นจะเหมือนกับการป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์, ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น, รับประทานอาหารปรุงสุก, ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าในที่แออัด
3.โรคไข้เลือดออก มักมีผู้ป่วยลดลงในช่วงปลายปี แต่ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่น้ำท่วม เช่น จังหวัดทางภาคใต้ โดยกลุ่มเสี่ยงป่วยจะเป็นเด็ก แต่กลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจะเป็นผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว จึงต้องเน้นย้ำเรื่องการเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการทาครีมกันยุง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นวัคซีนทางเลือกที่มีให้บริการใน รพ.ของรัฐบางแห่ง โดยมีค่าบริการในการรับวัคซีน
4.โรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีการติดเชื้อได้ทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส ข้อมูลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในปี 2567 พบผู้ป่วยมากที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจะพบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ แต่จะพบมากที่สุดในโรงเรียน ช่วงอายุ 5-14 ปี ขณะที่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส ระหว่างปี 2561-2567 มีผู้ป่วยตรวจพบเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) สายพันธุ์จี1 และ จี3 รวม 729 ราย เชื้อโนโรไวรัสไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งเหมือนกับเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) เพียงแต่ประเทศไทยเริ่มมีการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
ทำให้มีผู้ป่วยลดลง ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโนโรไวรัสเด่นขึ้นมา ต่อมาเป็นสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โดยในปี 2567 พบผู้ป่วย 743,697 ราย เสียชีวิต 2 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโนโรไวรัส อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคสามารถ จะใช้การดูแลตามหลักสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ เพราะแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ และเน้นการรับประทานอาหารที่สุกใหม่ ส่วนผู้ประกอบการอาหาร หากป่วยด้วยอาการอุจจาระร่วง จะต้องหยุดงานจนกว่าจะหาย
โรคที่เป็นประเด็นอื่น ๆ ได้แก่
1.โรคไอกรน ข้อมูลผู้ป่วยในปี 2567 พบสะสม 1,245 ราย เสียชีวิต 2 รายเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน ส่วนใหญ่จะระบาดในภาคใต้ที่การครอบคลุมวัคซีนต่ำ โดยมาตรการป้องกันเชื้อจะเหมือนกับโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเน้นย้ำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
2.โรคไข้หูดับ โรคนี้เกิดจากการเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัส ซูอีส ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะหมู ซึ่งจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุก ข้อมูลในเดือนธันวาคม เพียงครึ่งเดือน พบผู้เสียชีวิต 3 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปีและมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงคือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคคือการรับประทานอาหารปรุงสุก แยกอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหารที่สุกกับดิบ เพื่อลดการปรุงเปื้อน นอกจากนั้น เชื้อยังติดต่อทางบาดแผลได้ด้วย ซึ่งโรคไข้หูดับ จะมีอาการเป็นไข้ ไปจนถึงหูไม่ได้ยิน เป็นการสูญเสียระยะยาว ฟื้นฟูได้ยาก
สำหรับโรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่
1.โรคไข้หวัดนก สถานการณ์ทั่วโลก ยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 แต่ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในประเทศเวียดนาม 1 ราย มีประวัติพบสัตว์ปีกป่วยตายใกล้บ้านผู้ป่วยหลายร้อยตัว ขณะนี้ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล และพบผู้ป่วย 2 ราย ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อในฟาร์ม ขณะนี้รักษาหายดีแล้ว คำแนะนำสำหรับประชาชนรับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะสัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกรหรือโคนมที่ป่วย หรือตาย เกษตรกรผู้เลี้ยงหากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ไม่ควรนำซากสัตว์มาชำแหละประกอบอาหาร หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ
2.โรคฝีดาษวานร สถานการณ์ทั่วโลกในปี 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 19,823 ราย เสียชีวิต 73 ราย และในทวีปแอฟริกา พบผู้ป่วย 13,257 ราย เสียชีวิต 60 ราย สำหรับประเทศไทย ในปี 2567 ตั้งแต่ ต้นปี-14 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 175 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ Clade II ส่วนสายพันธุ์ Clade Ib ยังคงพบแค่ 1 ราย คำแนะนำสำหรับประชาชน ให้หลีกเลี่ยงแออัดหรือสัมผัสผู้มีผื่นสงสัย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เฝ้าระวัง สังเกตอาการเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หากมีอาการสงสัยให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจเนื่องจากมีโอกาสอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
3.โรคไข้โอโรพุช สถานการณ์ทั่วโลก 1 มกราคม – 25 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วย 11,664 ราย เสียชีวิต 2 ราย พาหะหลัก คือ ตัวริ้น และอาจพบได้ในยุง พบผู้ป่วยมากในทวีปอเมริกา ระยะฟักตัว 4-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อปวดข้อ ปวดกระบอกตา และผื่น มีเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดา และตามไรฟัน ในประเทศไทยมีความเสี่ยงการระบาดค่อนข้างต่ำมาก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ พาหะหลักคือตัวริ้น ซึ่งไม่มีรายงานพบในประเทศไทย
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไปในประเทศไปที่มีการระบาด
1.สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ป้องกันตัวริ้นกัด
2.ทายากันยุง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มียุงหรือแมลง
3.หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว มีอาการป่วยไข้เฉียบพลันและมีผื่นขึ้นภายใน 7 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป โรคระบาดที่ไม่ทราบสาเหตุในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2567 พบผู้ป่วย 527 ราย เสียชีวิต 32 ราย ลักษณะทางระบาดวิทยาและอาการของผู้ป่วย คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก เพศหญิง อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้ ไอ ร่างกายอ่อนเพลีย และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 องค์การอนามัยโลกรายงานพบ 10 จาก 12 ตัวอย่าง ที่เก็บมาให้ผลบวกต่อเชื้อมาลาเรีย จำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมจากตัวอย่างที่เก็บมา เพื่อยืนยันตัวการก่อโรคและการวินิจฉัยโรค กรมควบคุมโรค ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ ยังคงต้องรักษาสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าสู่สถานที่ปิด หรือผู้คนแออัดการล้างมือบ่อยๆ ไม่ไช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เน้นย้ำการป้องกันตนเองจากการถูกยุงหรือแมลงกัด ให้รับประทานอาหารที่สุกปรุงใหม่ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด รวมถึง สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วยภายใน 1-3 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการป่วยหลังการเดินทาง