นักวิจัยค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์เกือบ 200 รอย อายุกว่า 166 ล้านปี ในเหมืองของอังกฤษ ทั้งรอยเท้าของไดโนเสาร์กินพืช และไดโนเสาร์กินเนื้อ
นักวิจัยค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์เกือบ 200 รอย อายุกว่า 166 ล้านปี ในเหมืองของอังกฤษ ทั้งรอยเท้าของไดโนเสาร์กินพืช และไดโนเสาร์กินเนื้อ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและเบอร์มิงแฮมกล่าวว่า คนงานที่กำลังขุดดินเหนียวในเหมืองหินปูนทางตอนใต้ของอังกฤษสังเกตเห็นเนินนูนผิดปกติที่นำไปสู่การค้นพบ “ทางหลวงไดโนเสาร์” และรอยเท้าเกือบ 200 รอยที่ย้อนเวลากลับไปได้กว่า 166 ล้านปี
นักวิจัยกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.) ว่าการค้นพบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่กว่า 100 คน ได้ขุดค้นที่เหมืองเดวาร์ส ฟาร์ม ในมณฑลอ็อกซ์ฟอร์ดเชียร์ เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นการขยายผลจากงานด้านบรรพชีวินวิทยาในพื้นที่ก่อนหน้านี้ และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับช่วงกลางยุคจูราสสิกได้มากขึ้น
รอยเท้า 4 ชุดที่ประกอบกันเป็นทางยาวดังกล่าว แสดงให้เห็นเส้นทางที่สัตว์กินพืชคอยาวขนาดยักษ์ที่เรียกว่า ซอโรพอด ใช้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเซติโอซอรัส ไดโนเสาร์ที่โตเต็มวัย ซึ่งยาวเกือบ 18 เมตร
รอยเท้าชุดที่ห้าเป็นของเมกาโลซอรัส นักล่าที่มีความดุร้าย ยาว 9 เมตร ที่ทิ้งรอยเท้าสามกรงเล็บอันโดดเด่น และเป็นไดโนเสาร์ตัวแรกที่ได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์เมื่อสองศตวรรษก่อน
ขณะที่ร่องรอยของรอยเท้าตัดไปมา ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ระหว่างสัตว์กินเนื้อและสัตว์กินพืช ส่วนรอยเท้า 40 ชุดที่ค้นพบในเหมืองหินปูนในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ถือเป็นแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้มากนัก และมีหลักฐานทางภาพถ่ายจำกัดเนื่องจากเป็นพื้นที่ก่อนการใช้กล้องดิจิทัลและโดรนในการบันทึกการค้นพบ กลุ่มที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา สามารถถ่ายภาพดิจิทัลมากกว่า 20,000 ภาพ และใช้โดรนเพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติของรอยเท้าเหล่านี้
เอกสารจำนวนมากจะช่วยในการศึกษาในอนาคตและอาจช่วยให้ทราบขนาดของไดโนเสาร์ วิธีการเดิน และความเร็วในการเคลื่อนที่
การค้นพบดังกล่าวจะจัดแสดงในนิทรรศการใหม่ในพิพิธภัณฑ์ และจะออกอากาศในรายการ “Digging for Britain” ทางช่องบีบีซี ในสัปดาห์หน้า.