ชัยนาท “เขื่อนเจ้าพระยา” ปรับเพิ่มการระบายน้ำ รองรับมวลน้ำก้อนมหึมาจากภาคเหนือ เตือนชาวบ้านฝึกสังเกตตัวเลขก่อนท่วม ติดตาม-เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์น้ำทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลทำให้หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย โดยทางแผนของกรมชลประทาน เขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง จ.ชัยนาท ปราการด่านสุดท้ายก่อนที่น้ำจะเข้าสู่อยุธยาและกรุงเทพฯ มีการปรับแผนการระบายน้ำขึ้นเป็น 700-900 ลบ.ม./วินาที ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการตรึงการระบายไว้ที่ 700 ลบ.ม./วินาที พร้อมผันน้ำเข้าสองฝั่ง เร่งระบายรอรับมวลน้ำเหนือก้อนมหึมา ที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ หากไม่มีพายุฝนต่อเนื่องเข้ามาทำให้น้ำเพิ่ม
ล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น. (วันที่ 26 ส.ค. 2567) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1068 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา กุญแจหลักสำคัญก่อนที่มวลน้ำจะเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้ปรับการระบายเป็น 700 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.19 เมตร/รทก. ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 9.64 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 6.7 เมตร
ซึ่งทางกรมชลประทานได้มีการออกมาย้ำเตือนให้ประชาชนได้ฝึกสังเกตตัวเลขของการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ว่าปริมาณเท่าไร จะท่วมบริเวณไหน เมื่อระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อน 700-2,840 ลบ.ม./วินาที น้ำจะเริ่มเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้
– ระบายน้ำ 700-2,000 ลบ.ม./วินาที จะเอ่อท่วมพื้นที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.อยุธยา (แม่น้ำน้อย), คลองบางบาล จ.อยุธยา, คลองโผงเผง จ.อ่างทอง
– ระบายน้ำ 2,000-2,200 ลบ.ม./วินาที จะเอ่อท่วมพื้นที่ วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง, อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
– ระบายน้ำ 2,200-2,400 ลบ.ม./วินาที จะเอ่อท่วมพื้นที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง, วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
– ระบายน้ำมากกว่า 2,400 ลบ.ม./วินาที จะเอ่อท่วมพื้นที่ ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง, ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, บ้านท่าทราย อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ส่วนปริมาณน้ำวิกฤติของเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,840 ลบ.ม./วินาที
ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าสังเกตตัวเลขการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด.