เปิดภาพ “วังปลาหมอคางดำ” บ่อบำบัดน้ำเสียพื้นที่โซนเกษตรกรรมน้ำเค็มลุ่มน้ำปากพนังถูกทิ้งร้างเป็นจุดที่ 3 มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท หนึ่งในชุดโครงการ 2.5 พันล้าน
วันที่ 30 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า จากกรณีพบ “ปลาหมอคางดำ” จำนวนมหาศาล แพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำสาธารณะริมทางเข้าสู่อาคารบำบัดน้ำเสีย โครงการชลประทานน้ำเค็มสำหรับการเลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่บ้านถนนเขต หมู่ 4 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และอีกแห่งคืออาคารบ่อบำบัดน้ำเสียมูลค่ากว่า 600 ล้านถูกทิ้งร้างอยู่ในพื้นที่ ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น (อ่านข่าว: เจออีก อาคารบำบัดน้ำเค็ม “ปากพนัง” 2.5 พันล้าน กลายเป็นสวรรค์ปลาหมอคางดำ)
โดยล่าสุด มีรายงานพบแหล่งแพร่พันธุ์ “ปลาหมอคางดำ” จุดที่ 3 พบเป็นอาคารและระบบบำบัดน้ำเสีย โครงการชลประทานน้ำเค็ม อยู่ในสภาพถูกทิ้งร้างมาเกือบ 20 ปี ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในชุดโครงการอาคารบำบัดน้ำเสีย อาคารพร้อมระบบสูบส่งน้ำเค็ม มูลค่ารวมกว่า 2,500 ล้านบาท ในย่านนี้ถูกจัดให้เป็นระบบเกษตรกรรมน้ำเค็ม หรือที่เรียกว่า “โซนน้ำเค็ม” ของเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
แต่ทว่าการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเค็ม 4 จุดไม่สามารถใช้การได้ และยังมีระบบส่งน้ำเค็มแทบทุกจุดมีปัญหาติดขัด โดยกรมประมงยืนยันว่าสาเหตุหลักคือเกษตรกรผู้ใช้น้ำไม่ชำระเงินค่าบริหารจัดการทั้งการสูบน้ำและการบำบัดน้ำเค็ม ทำให้จำเป็นต้องยุติการดำเนินการ ไม่มีงบประมาณจึงเป็นเหตุให้สิ่งปลูกสร้างถูกทิ้งร้าง และยืนยันว่าการดำเนินโครงการสร้างความคุ้มค่าให้กับเศรษฐกิจพื้นที่นับหมื่นล้านบาทแล้ว
จุดนี้เป็นอาคารในแบบก่อสร้างเดียวกับอีก 2 จุดแรกที่เคยถูกเปิดเผยไปแล้ว มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เศษ มีอาคาร 4 หลัง พร้อมระบบสูบน้ำ 12 ท่อ บ่อบำบัด 12 บ่อ ส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรไม่มีอยู่แล้ว ระบบไฟฟ้าแรงสูง และหม้อแปลงถูกถอดออกไป เป็นที่น่าสังเกตว่าอยู่ในลักษณะการตัดทุบทำลาย ไม่ใช่ลักษณะของช่างมืออาชีพ อาจเป็นการโจรกรรมหลังจากไม่ได้ใช้งาน ภายในอาคารเป็นที่อาศัยของนกพิราบและสุนัขจรจัด และบริเวณรายรอบเต็มไปด้วยปลาหมอคางดำทุกขนาดตั้งแต่วัยอ่อนจนถึงขนาดใหญ่ อาศัยแพร่ขยายพันธุ์อยู่อย่างหนาแน่น เช่นเดียวกับอีก 2 จุดก่อนหน้า
นายประเสริฐ คงสงค์ เกษตรกรอาวุโส ชาว ต.หน้าสตน อ.หัวไทร ระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วที่สร้างมาเป็นสาธารณประโยชน์เพื่อชุมชนจะเป็นแบบนี้ รกร้างทั้งนั้น นี่ไม่นึกว่าเป็นสถานที่ที่รัฐสร้างให้กรมประมงดูแล เพราะทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เสียหายไปมาก แต่ทำอะไรได้ เราคือชาวบ้านธรรมดา จึงขอให้ภาครัฐทบทวนการจัดการ.