แฟนๆใจหาย! ต่วย’ตูน ถึงเวลาประกาศอำลาแผงแล้ว ปิดตำนาน 50 ปี

Author:

วันที่ 3 กันยายน 2567 ทางเพจดัง อย่าง ดาราภาพยนตร์ ได้ออกมาเผยว่า ต่วยตูน ประกาศอำลาแผงหนังสืออีกฉบับ หลังจากหยัดยืนสร้างความสุข ให้ #แฟนนานุแฟน มานานกว่าครึ่งศตวรรษ วันนี้ ต่วยตูน พอกเก็ตแมกาซีน และ ต่วยตูนพิเศษ ก็ถึงคราวต้องอำลาแผง ในเดือนกันยายน 2567

สำหรับหลายคนแล้ว นี่คือ นิตยสารแบรนด์นี้ยังเป็นกรุสมบัติชั้นเยี่ยมที่รวบรวมความรู้หลายสาขา ทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โบราณคดี หรือประสบการณ์ชีวิตจากผู้คนหลากวิชาชีพ ที่อ่านง่ายอ่านสนุก ชนิดที่ไม่ต้องปีนบันไดเลย

อย่าง คำสาปฟาโรห์ มนุษย์ต่างดาวมีจริงไหม ชีวิตคนไทยสมัย ร. 5 ตำนานร้านอาหารเก่าในเมืองกรุง ไปจนถึงชีวิตบ้านสวน ประสบการณ์ต่างแดน หรือแม้แต่วรรณกรรมสามก๊กที่ถูกนำมาเล่าใหม่แบบที่ใครๆ ก็อ่านรู้เรื่อง

เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจว่า ทำไมใครต่อใครถึงมักบอกว่า ‘ต่วย’ตูน’ เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย อย่างแท้จริง แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากไม่มีผู้บุกเบิกคนสำคัญ

เพื่อย้อนถึงเส้นทางแห่งความสุขในวันวาน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา พาทุกคนไปรู้จักกับบรรณาธิการคนดัง เจ้าของสโลแกน ‘การเมืองไม่ยุ่ง การมุ้งไม่เกี่ยว เน้นฮาลูกเดียว’ ผู้สร้างสถาบันอารมณ์ขันฉบับพกพา

กว่าจะเป็นต่วยตูน

ใครจะเชื่อว่า นิตยสารเล่มเล็กๆ ความหนาไม่กี่ร้อยหนา จะอัดแน่นไปด้วยเรื่องน่าสนใจนับไม่ถ้วน แถมนักเขียนที่มาแสดงฝีไม้ลายมือก็ชื่อชั้นไม่ธรรมดา บางรายเคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี หลายคนเคยนั่งเก้าอี้ประธานรัฐสภา และอีกไม่น้อยมีตำแหน่งห้อยท้าย ทั้งผู้ว่าฯ อธิบดี ราชบัณฑิต อาจารย์ใหญ่ เกษตรกร จนถึงนักโทษชาย แต่กว่าที่จะต่วย’ตูนจะกลายเป็นตักศิลาได้ ทั้งหมดเริ่มต้นจากภาพการ์ตูนลายเส้นธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

แม้ประกอบอาชีพหลักเป็นสถาปนิกอยู่ที่กรมชลประทาน แต่อีกกิจกรรมที่ลุงต่วยยึดมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการวาดการ์ตูน ประกอบคอลัมน์ตามนิตยสารต่างๆ ตามคำชักชวนของ รศ.แสงอรุณ รัตกสิกร โดยผลงานชิ้นแรกคือภาพประกอบเรื่องสั้น ‘เฒ่าทะเล’ ของแกม มหรณพ

เอกลักษณ์การ์ตูนแบบต่วย คือ เขียนน้อย ได้มาก เป็นอารมณ์ขันแบบที่เรียกว่า Pure Joke ปกติรูปหนึ่งเขาจะวาดเพียงไม่กี่เส้น แต่แค่นั้นก็พอเรียกเสียงหัวเราะได้แล้ว เพราะกว่าจะเป็นภาพหนึ่ง ต้องตกผลึกเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจก่อนเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยหยิบเอาอุปนิสัย ท่าทาง อารมณ์ และจิตสำนึกของตัวละครหลักมาตีความ แล้วถ่ายทอดเป็นภาพการ์ตูนที่สมบูรณ์ หลายคนอาจไม่ทราบว่า ภาพการ์ตูนประเภทคนติดเกาะ คนติดคุก ล้อหมอ ล้อตำรวจ ที่เห็นกันบ่อยๆ นั้น ลุงต่วยคือคนไทยแรกๆ ที่วาดเผยแพร่สู่สาธารณชน

“ผมได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่ง พ่อผมเมื่อก่อนรับหนังสือพิมพ์ฝรั่ง ซึ่งวันอาทิตย์หน้ากลาง มันเป็นการ์ตูนหมดเลย.. ตอนที่ผมมาวาด มันเลยแปลกขึ้นมา เพราะรุ่นก่อนผม การ์ตูนมักเป็นตลกแบบรุ่มร่าม บางอย่างไม่ต้องใส่ก็ได้ ผมเลยตัดสิ่งที่มันรกหูรกตาออก เอาเฉพาะที่มันจะขำแค่นั้นพอ อย่างกำแพงก็ขีดเป็นเส้นให้รู้ ไม่ต้องไปใส่รอยกระเทาะอะไร”

ความโดดเด่นนี่เองที่กลายเป็นจุดขาย ทำให้งานของเขาปรากฏตามนิตยสารชั้นนำอีกหลายเล่ม โดยเฉพาะ ชาวกรุง นิตยสารรายเดือนในเครือสยามรัฐ จนมีแฟนประจำติดเพียบ หลังเขียนมาได้ร่วมสิบปี ลุงต่วยคิดการใหญ่ จับมือกับเพื่อนรักนักเขียนเรื่องสั้น ‘ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ’ รวมเล่มผลงาน หวังหาเงินเป็นค่ากินเหล้า

เล่มแรกคือ ‘รวมการ์ตูนของต่วย’ นำเสนอผลงานลายเส้นสไตล์ต่วยล้วนๆ วางขายครั้งแรก 3,000 เล่ม ไม่กี่วันก็เกลี้ยงแผงจนต้องพิมพ์ซ้ำอีก 2-3 หน ลุงต่วยรวมเล่มผลงานอีกหลายเล่ม กระทั่งวัตถุดิบเริ่มหมดสต็อก ประเสริฐเลยบอกว่า “เอ็งอย่าไปคนเดียวซิวะ ตั้ง 200 กว่าหน้า งั้นข้าช่วยเขียนด้วย”

แต่เขียนไม่ทันจบ ประเสริฐก็รู้ว่าเขียนเองหมดคงไม่ไหว เลยเปลี่ยนไปใช้วิธีขอผลงานจากนักเขียนรุ่นพี่ ทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, อบ ไชยวสุ, นพพร บุณยฤทธิ์, ประมูล อุณหธูป หรือประหยัด ศ. นาคะนาท มาประกอบ ซึ่งทุกคนก็เมตตาอนุญาตให้นำมาใช้แบบฟรีๆ หนังสือก็เลยต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ‘รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง’

แม้ไม่ได้มีกำหนดวางแผงชัดเจน บางปีออกมาแค่เล่มเดียว แต่หนังสือก็ขายดิบขายดี เป็นที่รอคอยของขาประจำเรื่อยมา ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะความอ่อนด้อยทางธุรกิจ แถมผู้จัดจำหน่ายยังทักอยู่บ่อยๆ ว่าชื่อหนังสือยาวเกิน จำยาก ซึ่งส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานระยะยาว

สุดท้ายสองเพื่อนซี้ ‘ประเสริฐกับวาทิน’ จึงตัดสินใจก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองเป็นเรื่องเป็นราว เปลี่ยนชื่อเหลือแค่ ‘ต่วย’ตูน’ พร้อมวางแผงเป็นประจำทุกเดือน นับตั้งแต่กันยายน 2514 เป็นต้นมา

ความสุขของลุงต่วย

หลังก่อร้างสร้างอาณาจักรต่วย’ตูนมาเกือบ 40 ปี แฟนานุแฟนก็ได้รับข่าวร้ายว่า ลุงต่วยเป็นมะเร็ง!! ลุงต่วยถูกสั่งให้เลิกดื่มเหล้า วงสังสันทน์ที่เคยคึกคักจึงร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ถึงสุขภาพจะไม่เต็มร้อย สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือ ทัศนคติที่มีต่อโลกและผู้คน ดล ปิ่นเฉลียว บุตรชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ด้วยความเป็นคนมีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี ดูเหมือนโรคไม่ค่อยทำอะไรลุงต่วยเท่าไหร่ เวลาคุยกับหมอ หมอบอกว่าผมไม่สามารถรักษามะเร็งให้หายได้ แต่ผมสามารถทำให้ลุงต่วยอยู่กับมันอย่างสบาย ตายอย่างมีสุข”

แต่ละวัน ลุงต่วยสุขใจที่ได้อ่านต้นฉบับและตอบจดหมายแฟนๆ แม้ต้องใช้แว่นขยายช่วยก็ตาม นอกจากนี้ยังเขาส่งพลังบวกไปยังเพื่อนนักเขียนอาวุโสหลายคน เช่น ส.พลายน้อย ซึ่งเขากระตุ้นให้เขียนส่งมาเรื่อยๆ จนเกิดบทความเล่มโตชุด ‘ความคิดคะนึงตอนโพล้เพล้’ กว่า 20 ตอน เช่นเดียวกับนักเขียนรุ่นใหม่ที่ลุงต่วยหยิบยื่นโอกาสและให้คำแนะนำดีๆ กระทั่งหยัดยืนอยู่ในวงการได้อย่างมั่นคง

“ผมเห็นใจว่าคนรุ่นใหม่ตอนนี้หาสนามยาก แต่ต่วย’ตูนเปิดรับผลงานนักเขียนใหม่อยู่เสมอ พอดูว่านักเขียนคนไหนมีแวว ผมก็เริ่มตะไบแล้ว เอาเรื่องลงถี่ๆ เดือนเว้นเดือนก็มี ให้คนอ่านจำได้ หลังจากนั้นอาจเว้นบ้าง เอาเรื่องของคนใหม่ลงแทน นี่เป็นนโยบายของผมเลย ปีหนึ่งผมกะว่า ถ้านักเขียนมีแวว 3-5 คน ก็ดันขึ้นมาให้ได้ เอาให้เกิดเลย

“เพราะทุกครั้งที่ผมอ่านต้นฉบับ ผมจะเกิดความฟิต และทำให้ตัวเองมีแรงทำงาน เนื่องจากข้อเขียนของนักเขียนแต่ละคน ล้วนเป็นกำลังใจชั้นดีที่ทำให้ผมรู้สึกไม่ตกสมัย โดยเฉพาะข้อเขียนของนักเขียนรุ่นใหม่ ซึ่งบางครั้งอ่านแล้วยังอยากให้นักเขียนรุ่นเก่าเขียนหนังสือแบบนี้บ้าง” นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมลุงต่วยจึงมักส่งเทียบหนุ่มสาวฝีมือดีให้มาเขียนลงต่วย’ตูน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างยินดี เพราะนับเป็นเกียรติที่ข้อเขียนของตัวเองได้ผ่านการพิจารณาของบรรณาธิการอาวุโสเช่นนี้

หลังใช้ชีวิตกับมะเร็งด้วยรอยยิ้มนานถึง 9 ปี ลุงต่วยก็ได้จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2558 ด้วยวัย 85 ปี แม้วันนี้ลุงต่วย และนิตยสารต่วย’ตูน ทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นตำนานไปแล้ว แต่คุณค่าที่นิตยสารฉบับเล็กๆ นี้ได้ฝากไว้ให้โลกการอ่านให้ผู้คนมากมายก็จะไม่สูญสลายไปไหน และอยู่ในใจของใครหลายคนไปตราบนานแสนนาน

ข้อมูลประกอบการเขียนและภาพประกอบ

– นิตยสารสู่อนาคตรายสัปดาห์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 197 วันที่ 13-19 ธันวาคม 2527

– นิตยสารถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 10 เดือนเมษายน 2528

– นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 12 ฉบับที่ 141 เดือนมกราคม 2539

– นิตยสารสารคดี ปีที่ 5 ฉบับที่ 50 เดือนเมษายน 2532

– นิตยสารสารคดี ปีที่ 21 ฉบับที่ 241 เดือนมีนาคม 2548

– นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 10 เดือนสิงหาคม 2546

– นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 เดือนมกราคม 2549

– นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่ 12 เดือตุลาคม 2553

– รายการตำนาน ตอน ผู้สร้างตำนาน ต่วย’ตูน วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 AMARIN TV HD ช่อง 34

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *