สมุทรสาคร ประมงจังหวัด บุกตรวจพื้นที่กระทุ่มแบน ลงแขกลุยคลองกวาดล้าง หมอคางดำ ผงะปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ซุกคลองภาษีเจริญ 10 ตัน เตือนห้ามเพาะเลี้ยงเด็ดขาด ฝ่าฝืนโทษจำ-ปรับหนัก
8 ก.ย. 67 – นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร นำทีม FC สมุทรสาคร พันธมิตรทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจน้ำ กำลังทหารจากกรมทหารสื่อสารที่ 1 ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน ชาวประมงเรืออวนรุน ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำท้องที่ และพี่น้องประชาชน
ร่วมกันกวาดล้างปลาหมอคางดำ ในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน หลังชาวบ้านแจ้งเบาะแส โดยปฏิบัติการครั้งนี้ได้ลงพื้นที่คลองภาษีเจริญ กับ คลองหนองนกไข่ ซึ่งในคลองภาษีเจริญได้ใช้เรืออวนรุน 15 ลำ มารุนจับปลาหมอคางดำตลอดคลองในเขตพื้นที่ของอำเภอกระทุ่มแบนใช้เวลา 4 วัน
ซึ่งเมื่อจับปลาได้แล้ว จะส่งขายให้กับผู้รับซื้อปลา (แพปลา) ที่มารับซื้อถึงริมคลองภาษีเจริญในราคากิโลกรัมละ 13 บาท เพื่อนำส่งให้กับโรงงานปลาป่นของจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนในคลองหนองนกไข่ ใช้วิธีการลงอวนล้อมจับโดยทหารกับตำรวจน้ำ
ขณะที่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นปรากฏว่า ในคลองภาษีเจริญสามารถจับปลาหมอคางดำได้มากกว่า 9 ตัน หรือ มากกว่า 9,000 กิโลกรัม และเมื่อรวมกับคลองหนองนกไข่ ปฏิบัติการในครั้งนี้ก็สามารถจับปลาหมอคางดำได้กว่า 10 ตัน
ด้านชาวประมงเรืออวนรุนที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า การใช้เรืออวนรุนจับปลาหมอคางดำในลำคลองสายต่างๆ นั้น วันนี้ในจังหวัดสมุทรสาครเริ่มเบาบางลงแล้ว และทำให้การจับปลาเริ่มมีปริมาณน้อยลง แต่ก็ยังคงต้องช่วยกันจับต่อไป เพื่อทำให้ปริมาณปลาชนิดนี้ลดน้อยลง และก็โชคดีที่ทางสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยังคงคอยประสานพื้นที่ที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำให้เรืออวนรุนเข้าไปจับปลาได้ แม้ว่า ราคาจะลดลงมาบ้างแต่ก็ถือว่ายังดีอยู่ ส่วนการมาจับปลาหมอคางดำในคลองภาษีเจริญครั้งนี้ ก็ทำให้มีรายได้ค่อนข้างเป็นกอบเป็นกำ นำกลับไปให้กับครอบครัว
นายเผดิม เปิดเผยว่า ตามได้รับแจ้งจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่า พบปลาหมอคางดำอาศัยอยู่บริเวณ คลองภาษีเจริญ คลองหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จำนวนมากต้องการให้สำนักงานประมงจังหวัดลงพื้นที่จับ
ทั้งนี้หลังได้รับแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครก็ได้หารือกับ FC สมุทรสาคร พันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ในพื้นที่กำหนดวัน “ลงแขกลงคลอง” ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 เพื่อร่วมกันหยุดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่สมุทรสาคร
พร้อมกันนี้ยังชวนพี่น้องประชาชน หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันรณรงค์และทำกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศบ้านเรา ส่งต่อให้ลูกหลานอย่างยังยืนสืบไป
ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท หรือ จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนการตรวจวัดผลเพื่อประเมินถึงปริมาณปลาหมอคางดำในแต่ละสายคลอง ว่าลดลงหรือเบาบางลงแล้วจริงหรือไม่นั้น ทางสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้วางแผนไว้ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าหลังจากที่ปฏิบัติการลงแขกลงคลองไปแล้ว ก็จะกลับมาเหวี่ยงแหลงคลองอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ทราบว่า ยังคงมีการเจริญเติบโตหรือขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำในแต่ละสายคลองหรือไม่
สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ข้อมูลโดยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.67 – 07 ก.ย.67 กำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วทั้งหมด 1,435,440 กิโลกรัม โดยจำแนกเป็น ปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำระหว่างวันที่ 2 ก.พ. – 31 ก.ค.67 จำนวน 616,810 กิโลกรัม,กยท.วันที่ 1 – 20 ส.ค.67 จำนวน 378,571 กิโลกรัม,CPF วันที่ 19 ส.ค. – 7 ก.ย.67 จำนวน 440,059 กิโลกรัม