วันที่ 17 กันยายน นายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผย กับมติชนออนไลน์ ว่า ได้มีการตรวจสอบแหล่งน้ำที่อยู่รอบๆมหาวิทยาลัยพะเยาแล้ว ไม่มีแหล่งใดเสียหาย แตก หรือร้าว อย่างที่เป็นข่าวทางโซเชียล โดย รอบๆพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นป่าเขาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ในมหาวิทยาลัย มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นอ่างขุด จุน้ำได้ประมาณล้านลูกบาศก์เมตร ฝนตกหนักไม่นานก็เต็มแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำ น้ำแวนตรวจสอบแล้วก็ยังแข็งแรงดีอยู่เช่นเดียวกัน
สาเหตุของน้ำที่มาเร็วและแรง เกินกว่าที่ทุกคนจะรับมือได้ทันการนั้น เป็นเพราะฝนตกลงมาอย่างหนักและรุนแรง ซึ่งเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า เรนบอมบ์ คือ ตกแบบมืดฟ้ามัวดินจากเมฆขนาดใหญ่ เป็นเวลานานติดต่อกัน คือ ปกตินั้น ฝนตกแบบกระจาย เพราะเมฆฝนจะอยู่อย่างกระจัดกระจาย แต่ระยะหลัง ที่โลกเรา ได้รับผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามา จะเบียดบรรดาก้อนเมฆ ให้มารวมเป็นเมฆก้อนใหญ่ เมื่อคืนที่ พะเยา ตอนเกิดเรนบอมบ์นั้น เป็นเวลากลางคืน จึงมองไม่เห็น แต่หากเป็นเวลากลางวัน เรนบอมบ์ จะมาแบบดำมืด หนา 3-4 ชั้นเป็นบริเวณกว้าง บางคนจะจินตนาการไปว่า เป็นยานอวกาศ และเมื่อตกกลายเป็นฝน ก็จะตกยาวนาน 2-3 ชั่วโมงติดกัน นายประยุทธ์ กล่าว
นายประยุทธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปรากฏการณ์เรนบอมบ์ เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ป่าในประเทศพม่า ที่ทำให้น้ำท่วมเชียงราย และที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา และคาดว่า หลังจากนี้ เรนบอมบ์ จะเกิดบ่อยมากขึ้น เพราะปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น การเฝ้าระวัง และตั้งรับค่อนข้างยาก เพราะ จากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้ ทำให้การพยากรณ์อากาศทำยากขึ้น สาเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจาก ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะป่าต้นน้ำถูกทำลายลงนั่นเอง ทั้งนี้ นอกจากน้ำแล้ว ยังมีดินโคลนที่จะมาพร้อมกับน้ำอีกด้วย ก่อนหน้านี้เหตุการแบบนี้ หลายๆปีถึงจะเกิดขึ้นมา แต่ตอนนี้ และหลังจากนี้ มันจะเกิดบ่อยขึ้น เรื่อยๆ