น้ำเหนือมาตามนัด “เขื่อนเจ้าพระยา” ปรับการระบายเพิ่มเป็น 2,000 ลบ.ม. เพื่อรองรับมวลน้ำฝน พร้อมเตือน 3 จังหวัด เฝ้าติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด
วันที่ 4 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 2,282 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนยกตัวขึ้นมาอยู่ที่ 16.09 เมตร/รทก. เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 14.50 เมตร/รทก. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 10-30 เซนติเมตร ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ 1.84 เมตร/รทก. และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 1,999 ลบ.ม./วินาที
นายวิชัย ผันประเสริฐ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท เผยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า ทางเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีความจำเป็นต้องทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดจากอัตรา 1,947 ลบ.ม./วินาที จนถึงอัตราไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที และคงอัตราการระบายดังกล่าวต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้น 10-30 ซม. ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้
1. คลองโผงเผง จ.อ่างทอง
2. คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
3. ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)
4. วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
5. วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เฝ้าติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด
ทางด้าน นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. เผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวมเดือนตุลาคม 2567 พบว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนลดลง เนื่องจากร่องความกดอากาศบริเวณพื้นที่ตอนบนของประเทศจะขยับเลื่อนลง ส่งผลให้มีฝนตกบริเวณภาคกลาง ก่อนจะขยับลงไปสู่พื้นที่ภาคใต้ในช่วงหลังวันที่ 15 ต.ค. 2567 ต้องเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก ในเดือนตุลาคมนี้
ซึ่งทาง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามแนวโน้มของการเกิดพายุและทิศทางของพายุตลอดช่วงฤดูฝนนี้ยังคงต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนสำหรับรองรับปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้โดยเร็วที่สุด แต่ให้คงการระบายไว้ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที และได้มีการทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเพาะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. 2567 ด้วย.