พบฟอสซิล “ไข่ไดโนเสาร์” – ซินหัว รายงานว่า คณะนักวิจัยจีนค้นพบ “ซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ชนิดใหม่” ในมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกของ ประเทศจีน โดยฟอสซิลไข่ฟองหนึ่งมีความยาวเพียง 29 มิลลิเมตรเท่านั้น และทำให้ครองตำแหน่งซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในโลก
คณะนักวิจัยจากสถาบันสำรวจและวิจัยทางธรณีวิทยามณฑลเจียงซี มหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน และสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ทำการศึกษานาน 3 ปี และยืนยันว่าซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ 6 ฟอง มาจาก “ยุคครีเทเชียสตอนปลาย” หรือเมื่อกว่า 80 ล้านปีก่อน
รายงานระบุด้วยว่าซากฟอสซิลไข่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์และเรียงตัวอย่างไม่เป็นระเบียบนี้ถูกค้นพบในพื้นที่ก่อสร้างในตำบลเหมยหลิน เขตก้านเซี่ยน เมืองก้านโจว ตั้งแต่ปี 2564
นายโหลว ฝ่าเซิง หัวหน้าวิศวกรประจำสถาบันสำรวจและวิจัยทางธรณีวิทยามณฑลเจียงซี กล่าวว่าทีมนักวิจัยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดและกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบกระจายกลับในการวิเคราะห์โครงสร้างระดับจุลภาคของเปลือกไข่ และตรวจพบว่าสัณฐานวิทยาและโครงสร้างจุลภาคบ่งชี้เป็น “ไดโนเสาร์เทโรพอด” ที่ไม่ใช่กลุ่มนก
ฟอสซิลไข่ที่มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดมีความยาว 29 มิลลิเมตร เล็กกว่าซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่สุดที่เคยพบก่อนหน้านี้ในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งมีขนาดกว้าง 45.5 มิลลิเมตร ยาว 40.4 มิลลิเมตร และสูง 34.4 มิลลิเมตร
นายโหลวเสริมว่าการค้นพบครั้งล่าสุดที่เผยแพร่ผ่านวารสารฮิสทอรริคัล ไบโอโลจี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ถือเป็นการเพิ่มความหลากหลายของไข่ไดโนเสาร์จากยุคครีเทเชียสตอนปลาย และมอบข้อมูลเชิงลึกอันล้ำค่าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไดโนเสาร์เทโรพอดในยุคครีเทเชียสตอนปลายด้วย
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยจะใช้เทคโนโลยีซีทีสแกนระดับจุลภาคมาประกอบโครงสร้างของฟอสซิลไข่ส่วนที่ถูกฝังเพื่อศึกษากระบวนการก่อตัว และเจาะจงชนิดของไดโนเสาร์ที่วางไข่ รวมถึงวิธีการสืบพันธุ์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้