สิทธิประโยชน์ กรณีเสียชีวิต สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 หากเสียชีวิต ทายาทจะได้รับ 3 สิทธิ เงินสงเคราะห์ บำเหน็จชราภาพและค่าทำศพ โดยมีเงื่อนไขผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย
เงินบำเหน็จชราภาพ หากผู้ประกันตนเสียชีวิต
ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคืนโดยจ่ายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ ได้แก่ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามีหรือภรรยาตามกฎหมาย บิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา หรือ บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ
1.ผู้ประกันตนก่อนเสียชีวิตขอรับเงินบำนาญแล้ว
– กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว เสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่รับบำนาญ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
– กรณีผู้ประกันตนกลับไปเป็นผู้ประกันตนและต่อมาเสียชีวิต ได้รับเงินบำนาญไม่เกิน 60 เดือน ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับก่อนกลับไปเป็นผู้ประกันตน × จำนวนเงินเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
– กรณีรับเงินชราภาพก่อนบังคับใช้กฎกระทรวง แต่ยังไม่ครบ 60 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ เดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
– กรณีรับเงินชราภาพมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต 10 เท่า
2.ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปี
ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ตามกฎหมายประกันสังคมกำหนด ไม่มีสิทธิรับเป็นเงินบำนาญ แม้จะส่งเงินสมทบครบ 15 ปี โดยทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพได้ภายใน 2 ปี
เงินค่าทำศพ ผู้ประกันตน ม.33 ม.39
สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าทำศพให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท
ใครคือผู้จัดการศพ
– บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
– สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
– บุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับค่าทำศพ
-แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง
– หลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
– สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง
– สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้จัดการศพ
เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ถึงแก่ความตาย
เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย เป็นการให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เท่านั้น
แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่ สามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ดังนี้
– ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
– ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์
– แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์
– สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดาของผู้ประกันตน (ถ้ามี)
– สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบุตรกรณีไม่มีสูติบัตร
– หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ถ้ามี)