เรียกได้ว่า กระแสเรื่อง แม่หยัว กำลังมาแรง โดยได้รับบทนำ จากใหม่ ดาวิกา ซึ่งแสดงเป็น แม่หยัว หรือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ นั่นเอง วันนี้เราจะพาไปรู้ประวัติความเป็นมากัน
สตรีผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์อู่ทอง มีข้อสันนิษฐานว่า พระชาติกำเนิดของ ท้าวศรีสุดาจันทร์ สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง โดยอาจสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้ารามราชา ที่เสียราชสมบัติแล้วถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจาม (สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ใกล้วัดวัดพุทไธศวรรย์ ในปัจจุบัน)
โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า แม้สมเด็จพระเจ้ารามราชาจะเสียราชสมบัติ ผู้สืบราชวงศ์ของพระองค์อาจได้รับการเลี้ยงดูสืบมาให้มาทำหน้าที่สำคัญในราชสำนัก เนื่องจากถูกละเว้นไว้ในฐานะที่เป็นตระกูลผู้สืบเชื้อสาย สอดคล้องกับ จดหมายเหตุวันวลิต ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขุนวรวงศาธิราช ที่เดิมเป็นพนักงานเฝ้าหอพระมาก่อน ว่าเป็นหมอผี มีหน้าที่อ่านแปลหนังสือพงศาวดารของต่างประเทศให้แก่พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขุนวรวงศาธิราช รวมถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีศักดิ์เป็นญาติ ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นต่ำ แต่เป็นระดับผู้รู้ และอยู่ในฐานะระดับปุโรหิตที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ อธิบายเรื่องราวไว้ว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ก่อนที่จะมีพระราชโอรสร่วมกัน คือ พระรัษฎาธิราชกุมาร ทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์ ถือครองอำนาจเหนือกว่ามเหสีคนอื่น ที่ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเลยแม้แต่คนเดียว
แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ครองราชย์ได้เพียง 4 ปีเท่านั้น ก็เสด็จสวรรคตด้วยไข้ทรพิษ แต่พระองค์ยังไม่มีรับสั่งว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือตำแหน่งสำหรับผู้ที่จะเป็นกษัตริย์องค์ถัดไป
ทำให้เหล่าเสนาบดีและข้าราชการในวังลงความเห็นให้แต่งตั้ง พระรัษฎาธิราชกุมาร ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระนามว่า สมเด็จพระรัษฎาธิราช ทำให้ตำแหน่งของท้าวศรีสุดาจันทร์ ยกระดับขึ้นเป็น นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เนื่องจากในขณะนั้น สมเด็จพระรัษฎาธิราช มีพระชนมพรรษาเพียง 5 ปี เท่านั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน และเป็นผู้ดูแลอำนาจทั้งหมด
พระชัยราชา ตัวละครลับผู้ครองบัลลังก์กรุงศรีฯ
เมื่อมีการประกาศแต่งตั้งสมเด็จพระรัษฎาธิราชเป็นกษัตริย์ ระหว่างนั้น มีข่าวลือว่า “พระชัยราชา” ผู้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้เป็นที่นับหน้าถือตา ลักลอบเป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีกลุ่มบุคคลนำโดย พระชัยราชา จับสมเด็จพระรัษฎาธิราชมาสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งกรุงศรีอยุธยา พระนามว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช
ในขณะที่ สมเด็จพระไชยราชาธิราช ขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ขึ้นในกรุงเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพลิงได้โหมบ้านเรือนวัดวาอารามเป็นจำนวนกว่าแสนหลัง สมเด็จพระไชยราชาธิราช ครองราชย์ได้ 13 ปี ก็สวรรคต จากพระอาการป่วยกะทันหัน หลังเดินทางกลับจากการตีเมืองเชียงใหม่พร้อมได้รับชัยชนะ
ก่อนที่ต่อมาเหล่าเสนาบดีและข้าราชการในวัง มีมติให้แต่งตั้ง พระยอดฟ้า พระราชโอรสในท้าวศรีสุดาจันทร์กับสมเด็จพระไชยราชาธิราช ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 11 ปี ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ 14 แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่งตั้งให้ พระเฑียรราชา ช่วยว่าราชการกิจการภายในบ้านเมือง แต่พระเฑียรราชาดำรงตำแหน่งนี้ได้ไม่นาน ก็ออกไปบวชโดยไม่มีเหตุผลระบุชัดเจน
จุดเริ่มต้นของจุดจบ หลังลักลอบคบ ขุนวรวงศาธิราช
ไม่นานหลังจากที่พระเฑียรราชาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ณ วัดราชประดิษฐาน ท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้ลักลอบคบชู้กับ พันบุตรศรีเทพ ผู้มีหน้าที่ดูแลหอภายในพระราชวัง ก่อนที่จะชอบพอถึงขนาดปูนบำเน็จให้พันบุตรศรีเทพ ขึ้นดำรงตำแหน่ง “ขุนวรวงศาธิราช” ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นยุคมืดของกรุงศรีอยุธยาอย่างแท้จริง เนื่องจากท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราช ต่างใช้อำนาจเข่นฆ่าและลงโทษผู้ที่เห็นต่างมากมาย
กระทั่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์ เกิดตั้งครรภ์กับขุนวรวงศาธิราช ทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์จำต้องให้ขุนวรวงศาธิราช ดูแลกิจการบ้านเมืองต่าง ๆ แทนตน ด้าน พระยอดฟ้า แม้ขณะนั้นจะมีพระชันษาเพียง 12 ปี เมื่อรับรู้ได้ว่าพระมารดามีชู้ ก็ไปปรับทุกข์กับ “ขุนพิเรนทรเทพ” ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจซึ่งเป็นพระญาติและเป็นราชองครักษ์ เคยอยู่ใกล้ชิดมาตั้งแต่สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทว่าท้าวศรีสุดาจันทร์สังเกตว่าทั้งสองคนลักลอบพบกันบ่อยครั้ง สงสัยว่า ขุนพิเรนทรเทพ จะยุยงให้พระยอดฟ้าคิดการร้าย จึงถอดออกจากตำแหน่ง
เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์คลอดลูก ขุนวรวงศาธิราช จึงปลงพระชนม์พระยอดฟ้าเสีย เพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามต่อตนและลูกต่อไปในอนาคต เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ทราบความ ก็รับสั่งให้แต่งตั้ง ขุนวรวงศาธิราช ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
จุดสิ้นสุดยุคมืดแห่งกรุงศรีอยุธยา
ฝ่าย ขุนพิเรนทรเทพ หลังถูกปลดจากตำแหน่งแล้ว ก็ได้ไปรวมสมัครพรรคพวกผู้ที่เคียดแค้นและเห็นต่างต่อท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราช ก่อนที่จะเดินทางไปยัง วัดราชประดิษฐาน เพื่อแจ้งต่อพระเฑียรราชาซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ ว่าตนและพรรคพวกตั้งใจลักลอบปลงพระชนม์ทั้งสองเสีย แล้วจะแต่งตั้งพระเฑียรราชา ขึ้นเป็นกษัตริย์
ขุนพิเรนทรเทพ จึงวางแผนหลอกล่อขุนวรวงศาธิราช โดยกล่าวว่ามีช้างเผือกติดเพนียดอยู่ หากขุนวงศาธิราชเสด็จไปคล้องช้างก็จะเกิดบารมีและสิทธิธรรมในการครองราชย์ ต่อมาเมื่อถึงวันที่เสด็จทางชลมารคตามลำคลองสระบัว เพื่อไปคล้องช้างเถื่อนที่เพนียดวัดซองที่ย่านหัวรอ ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพได้นำกำลังดักซุ่มที่คลองบางปลาหมอ
เมื่อขบวนเรือล่องมาถึงบริเวณปากคลองสระบัวที่บรรจบกับคลองบางปลาหมอ (สันนิษฐานว่าปริมณฑลดังกล่าวในปัจจุบันคือ วัดเจ้าย่า) ก็มีการสกัดจับขุนวรวงศาธิราช กับท้าวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตร ปลงพระชนม์ทั้งสาม แล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง จากนั้น ได้เดินทางไปเชิญพระเฑียรราชา ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ. 2091 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ถือเป็นจุดสิ้นสุดยุคสมัยของ ท้าวศรีสุดาจันทร์ และยุคมืดของกรุงศรีอยุธยาอย่างแท้จริง