วิกฤติของวงการบันเทิงไทย หลายช่องไม่ส่งเสริมสร้างละครเรื่องใหม่ หากมีแนวโน้มขาดทุนสูง ทำให้ผู้ผลิตละคร ผู้จัดฯ รวมถึงอาชีพผู้กำกับฯ ขาดงานและได้รับผลกระทบอย่างมาก
ล่าสุด “หนุ่ม อรรถพร ธีมากร” ผู้กำกับมากฝีมือที่เกิดทางมารวมงาน CRA FOOD FIT for FINE FEST 15th Anniversary CHULABHORN Hospital รวมพลังฟู้ดฟิตฟอร์ไฟน์ ชวนกินให้เป็น-ชวนออกให้ฟิต-ยิ่งฟิตยิ่งได้บุญ ณ ลานชั้น 2 ฝั่งทิศเหนือ อาคารรัฐประศาสนศาสตร์ (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
“ผมประกอบธุรกิจผลิตซีรีส์มาประมาณ 10 ปีแล้วนะ ปกติบริษัทของผมเวลารับงานะหยุดนานสุด ไม่เกิน 2 เดือน เต็มที่ 3 เดือน รวมทำโปรดักชั่น รวมฟิตติ้งด้วยนะ หรือบางจังหวะยังไม่ปิดเรื่องนี้ ผมก็ต้องเปิดเรื่องใหม่แล้ว ลูปชีวิตเป็นอย่างนั้น
แต่ทุกวันนี้พอปิดเรื่องหนึ่งเราเหมือนหมาล่าเนื้อเลย เราต้องออกไปทุ่งหญ้าสะวันน่า ออกไปล่าหางาน ใหม่เพื่อเสนองาน คือเมื่อก่อนผมจะมี 2 พาร์ทต ก็คือทางช่องเสนอมา กับที่ผมก็ผลิตเลย อีกอย่างคือมีเรื่องที่อยากทำ แล้วก็ไปเสนอขายเลยว่าที่ไหนอยากทำกับเราบ้าง
แต่ตอนนี้คือการที่เราเอาโปรเจ็กต์ไปวิ่งขายมากกว่า เพราะทางช่องเองการที่เขาจะผลิตเรื่องใหม่ๆ ตอนนี้มันลงทุนสูง ด้วยความที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีรายได้หรือเปล่า หรือมีสปอนเซอร์ซื้อหรือยัง ไม่มีใครอยากเสี่ยง 30-40 ล้าน
ผมเข้าใจผู้ลงทุนนะ การที่เขาจะสร้างไอดอลหรือไอคอนขึ้นมาแล้วขายได้แน่ๆ อย่างเขามี 2 คนนี้ ซื้อมั้ย ถ้าซื้อก็ค่อยทำโปรเจ็กต์ เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นการสร้างโปรเจ็กต์ใหม่เดี๋ยวนี้ต้องกลับไปคิดกันว่าในการจะสร้างแต่ละแพลตฟอร์มเขามีอะไรอยู่ แล้วเราจะเข้าไปแพลตฟอร์มนั้น เขามีอะไร และเราจะใช้ทรัพยากรของเขาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าวงการบันเทิงเปลี่ยนไปมาก? “ผมว่าน่าจะเป็นภาวะของคนทำงานบางส่วน คือมันจะมีคนที่ทำงานโปรดักชั่นแบบนี้มาประมาณยุค 20-30 ปีแล้ว มันเหมือนเราทำงานอยู่ตึกนี้มานาน ทุกวันเราต้องเดินเข้าตีกนี้ ทำกิจกรรมทุกอย่างของเราปกติ
แต่พอมาวันหนึ่งตึกมันเริ่มแกว่ง เราก็จะเริ่มใจไม่ดีว่ามันจะเป็นยังไงต่อไปวะกับเจนเนเรชั่นใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะในขณะที่เราเคยพีคมาก่อน แต่มันคือ 20 ปีที่แล้ว และตอนนี้มันมีคนรุ่นใหม่มาแล้ว มันเป็นวัฏจักรของงานศิลปะอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้มันเป็นยุคของคนรุ่นใหม่
และมันก็จะมีเสียงร้องจากคนอีกเจนเนเรชั่นหนึ่งว่าฉันกำลังจะตกงาน เพราะงานในวงการบันเทิงมันซบเซายังไงก็แล้วแต่ แต่อีกเจนหนึ่งเขากลับมีงานเป็นปกติ ผมว่าอันนี้มันเกี่ยวกับมายด์เซ็ทแล้ว ฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ทของเราเองเพื่อไปเข้าสู่บริษัทใหม่ ซึ่งก็คือตึกเดิมที่เราเคยอยู่นี่แหละ แต่เขาทำใหม่ ประกอบใหม่ มีแนวคิดใหม่ๆ”
เคยถามตัวเองไหม ว่าเราจะรอดยังไง หรทือว่าเราจะรอดมั้ย? “ผมก็เคยถามตัวเองทุกวัน เอาจริงๆ ก็ถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันจะยืนยาวไปได้มากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องยอมรับว่ามันก็มีทีมงานใหม่ๆ วิธีคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้าโชคดีวิธีคิดของเรา มันไปถูกจริตกับผู้ลงทุนที่เขาซื้อโปรเจ็กต์เรา เราก็ยังคงรอดอยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราปิดตัวเอง เมื่อนั้นแหละเราต้องหาอาชีพที่2 ที่3 ที่4 แล้ว
ทุกวันนี้ด้วยความที่เราเห็นวัฎจักรของไอดอล ไอคอลพวกนี้มานาน มันจะมีวันที่ขึ้นถึงจุดสูงสุด และวันนึงมันก็จะลง ก่อนจะถึงวันนั้นคุณต้องสร้างอะไรไว้ก่อนที่มันจะไม่เหลือโอกาสให้สร้างอะไรได้อีก
วันหนึ่งคุณเคยมีงานโคตรเยอะเลย แต่อย่างน้อย 10 ปีผ่านไป คุณต้องเตรียมหาอะไรบางอย่างเพื่อจะทำในอนาคตอีกแบบหนึ่ง เพราะว่ามันก็จะมีคนเข้ามาแทนที่คุณ มันเป็นการเตรียมตัวมากกว่า”
แพลตฟอร์มต่างๆ มีผลกับอาชีพผู้กำกับไหม? “เรื่องของแพลตฟอร์มมีผลกับผู้ผลิตในระบบโทรทัศน์เมืองไทยมาก ยกตัวอย่างเรื่องสาธุใน Netflix นะ เรื่องราวแบบนี้เอามาฉายในช่องปกติได้มั้ย ไม่ได้ ไมีมีทาง
ฉะนั้นความคิดของคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ๆ เรื่องแปลกแยก เรื่องน่าสนใจที่ล้ำๆ มันจะไปอยู่ในแพลตฟอร์มพวกนี้หมด แต่ในช่องโทรทัศน์ปกติ เราจะถูกบังคับให้ดูแต่แนวคิดเดิมๆ ระบบเดิมๆ ฉะนั้นการเอาละครเก่าหรือละคร 30 ปีที่แล้วมารีรันใหม่ มันก็ไม่ได้ผิดอะไร”
ส่วนตัวทุกวันนี้ งานยังชุกอยู่ไหม? “งานผมมันก็มาเรื่อยๆ ปีที่แล้วผมมี 2 เรื่อง ก็ยังโอเค ซึ่งถ้าจะเลี้ยงทั้งบริษัทให้อยู่ได้ก็ต้องมีสัก 2 เรื่องนี่แหละเป็นอย่างน้อยนะ ถ้า 3 เรื่องถือว่าเริ่มมีกำไรเหลือนิดหน่อย”
ถ้าขาดทุนมากๆ คิดจะหยุดไหม? “ถ้าสมมติมันขาดทุนสะสมนานๆ ก็คงต้องหยุด แล้วก็บริหารหนี้ให้เรียบร้อย แล้วค่อยว่ากันใหม่ จริงๆ มันก็มีหลายเรื่องที่ผมทำและมีปัญหาแบบนั้นจริงๆ ด้วยระบบการจัดการบางอย่างที่มันกระทบกับบริษัทเรา โดยที่เราก็ไม่ได้อยากให้มันขาดทุนหรอก แต่ไม่เป็นไร ยังไงก็ต้องทำ มันเป็นงานที่เขามอบหมายให้ ยังไงก็ต้องทำให้ดีที่สุด”
จริงมั้ย ทุกวันนี้้ต้องหาสปอนเซอร์ให้เรียบร้อย ถึงจะเอางานไปเสนอ แล้วช่องถึงจะรับ?
“ใช่ เราจำเป็นจะต้องหาลูกค้าในมือให้ได้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วค่อยผลิต เพราะไม่งั้นก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาซัพพอร์ต ละครเรื่องนึง 15-20 ตอน เงินก็ประมาณ 30-40 ล้าน
ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์หรือสปอนเซอร์ที่เราหาได้ ก็ต้องดูอีกเวลาที่ไปขายงานให้แพลตฟอร์มต่างๆ คือจะเป็นในกรณีที่ถ้าเราจำเป็นต้องไปขอสปอนเซอร์ และเราต้องไปรวมกับพาร์ทเนอร์ที่ไปรวมกับสถานี อันนี้ต้องคุยกันให้ชัดว่าใครถืออะไร แบ่งกันอย่างไร ไม่งั้นไม่ได้ ตีกันครับ”
ทุกวันนี้แพชชั่นในการทำงานยังมีอยู่ไหม? “แพชชั่นในการผลิตงานของผมไม่เคยเปลี่ยนนะ และทุกวันนี้มันทำให้ผมมีแพชชั่นมากขึ้น ยิ่งพอมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มันทำให้รู้สึกว่าเราจะได้ทำอะไรอย่างที่เราอยากทำมากขึ้น”
หน่วยงานรัฐเข้ามากดว่าบทแนวนี้ห้ามนำเสนอ มันทำให้เราทำงานยากใช่ไหม? “คือถ้าเรื่องหน่วยงานรัฐที่เข้ามากำกับดูแล เซ็นเซอร์หรืออะไรก็แล้วแต่ ด้วยความที่เราชินกับการแก้ปัญหา มันเลยยังไม่เห็นปัญหามาก แต่ถามว่าจริงๆ แล้ว ถ้ามีบางมุมที่เปิดให้เล่าได้มากขึ้น หรือมากกว่านี้อีกสักหน่อย ผมว่าคนไทยจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างมากขึ้นจากภายนอก คนดูก็จะได้เห็นงานที่หลากหลายมากขึ้น”