กองปราบบุกทลายเหมืองขุดบิทคอยน์ 9 จุดในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ดัดแปลงมิเตอร์ลักไฟฟ้าหลวงใช้ฟรี ทำรัฐเสียหายกว่า 10 ล้านบาท ได้ผู้ต้องหา 2 ราย ตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบธุรกรรมที่ต้องสงสัย ในห้วงเดือน ม.ค. 2566 ถึง ก.ค. 2567 มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 พ.ย. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ป. พร้อมด้วย นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการสายงานปฏิบัติการระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการบุกทลายเหมืองขุดบิทคอยน์ดัดแปลงมิเตอร์ลักกระแสไฟฟ้าหลวงทำรัฐเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
หลังนำกำลังพร้อมหมายค้นศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัยจำนวน 9 จุดในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน” ได้จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย นายณัฐพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี และ นายอาทิตย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี พร้อมของกลาง เครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอลบิทคอยน์ 111 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พร้อมจอภาพ 7 ชุด อินเทอร์เน็ตเราเตอร์ 10 ชุด เครื่องมิเตอร์ไฟฟ้าที่ถูกแก้ไขดัดแปลง 10 เครื่อง
พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2567 ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่ามีบ้านต้องสงสัย เป็นอาคารพาณิชย์ จำนวน 1 หลัง มีชายวัยรุ่นเช่าไว้โดยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัย แต่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้บริเวณรอบบ้าน ทำให้สงสัยว่าอาจใช้ในการติดตั้งเครื่องซิมบ็อกซ์ (Sim Box) ที่คนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้สำหรับแปลงสัญญาณโทรศัพท์ไปหลอกลวงผู้เสียหาย ตำรวจจึงได้ลงพื้นที่ดำเนินการสืบสวน ก่อนทราบต่อมาว่าผู้เช่าบ้านดังกล่าวคือ นายณัฐพงษ์ นอกจากนี้ยังทราบว่า นายณัฐพงษ์ ได้เช่าอาคารพาณิชย์ที่อื่นๆ รวมถึงติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้โดยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยในลักษณะเดียวกันอีก 6 แห่ง และยังเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยวอีก 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง
พ.ต.อ.ภัทราวุธ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายณัฐพงษ์ พบว่ามีธุรกรรมที่ต้องสงสัย ในห้วงเดือน ม.ค. 2566 ถึง ก.ค. 2567 มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท จึงเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อตรวจสอบการใช้กระแสไฟฟ้าของบ้านต้องสงสัย พบว่าบ้านดังกล่าวมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน จึงน่าเชื่อว่ามีการลักลอบดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อลักกระแสไฟฟ้าและนำไปใช้เปิดการทำงานของเครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอลบิทคอยน์ จึงจัดกำลังลงพื้นที่สืบสวนแกะรอยต่อเนื่องจนเชื่อว่าน่าจะมีการกระทำผิดจริง โดยกระทำผิดร่วมกับนายอาทิตย์ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายค้นและหมายจับจนนำมาสู่การจับกุมตัวทั้งสองพร้อมของกลางดังกล่าว
สอบสวน นายณัฐพงษ์ ให้การรับสารภาพว่า ทำมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยจะเริ่มจากการหาเช่าบ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่ติดตั้งเหมืองขุดบิทคอยน์ จากนั้นจะเริ่มทยอยสั่งซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์มือสองผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊ก แล้วนำมาติดตั้งในบ้านแต่ละหลัง ก่อนจะว่าจ้างให้นายอาทิตย์ ดัดแปลงมิเตอร์ไฟ เพื่อทำให้วัดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าความเป็นจริง พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและได้เปิดใช้งานระบบเหมืองขุดบิทคอยน์ดังกล่าวเรื่อยมา
ขณะที่การสอบปากคำนายอาทิตย์ ให้การยอมรับว่า ได้รับการว่าจ้างจากนายณัฐพงษ์ ให้ทำหน้าที่ดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อให้อ่านค่าได้น้อยกว่าความเป็นจริง รวมถึงเป็นคนติดตั้งระบบไฟเพื่อใช้งานกับเครื่องขุดบิทคอยน์ดังกล่าว
ด้าน นายอุดมศักดิ์ เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวคือการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมายโดยการดัดแปลงมิเตอร์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงอยากฝากเตือนพี่น้องประชาชนว่า ห้ามดัดแปลงมิเตอร์เพื่อลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายข้อหาลักทรัพย์ (ลักกระแสไฟฟ้า) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งในส่วนเจ้าของสถานที่หรือผู้ให้เช่าเอง หากพบการกระทำดังกล่าวของผู้เช่าแล้วนิ่งเฉย ก็มีความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสหรือต้องการตรวจสอบมิเตอร์ ก็สามารถแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เน้นย้ำว่าการทำเหมืองบิทคอยน์สามารถทำได้ แต่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าที่ถูกกฎหมายและไม่ลักลอบใช้อย่างกรณีดังกล่าว เพราะจะมีความผิดตามกฎหมาย
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้ต้องหาทั้งสอง พบว่าหากไม่มีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้า เครื่องขุดบิทคอยน์ของกลางจำนวน 111 เครื่อง จะต้องเสียค่าไฟเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท
ทั้งนี้จากการที่คนร้ายก่อเหตุมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี คาดการณ์ความเสียหายจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท