ถกคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรก รัฐบาลจัดเต็มแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน “พักดอกเบี้ย” นาน 3 ปี ช่วยกลุ่มที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี สำหรับสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และหนี้จากการบริโภค ช่วยลูกหนี้รวม 1.2–1.3 ล้านล้านบาทบรรเทาภาระผ่อนหนี้ ขณะที่ประกาศพร้อมจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ขณะที่ ครม.อนุมัติปรับขึ้นงบซื้อนมโรงเรียนกล่องละ 0.46 บาท
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ โดยพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ โดยเบื้องต้น สำหรับเงื่อนไขของการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้กลุ่มนี้นั้น จะครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มที่มีหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ และหนี้จากการบริโภค ซึ่งมีมูลหนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้หนี้สินภาคครัวเรือน และกลุ่มเอสเอ็มอี โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ คลัง และกระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มนี้ น่าจะเป็นกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะกลับมาฟื้นตัวได้”
นายพิชัย กล่าวว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้จะช่วยลดภาระลูกหนี้กลุ่มนี้ได้ เพราะการพักดอกเบี้ย 3 ปี จะช่วยเติมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น และคณะกรรมการกำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมว่า ในช่วง 3 ปีแรกที่ชำระเงินกู้ จะปรับวงเงินผ่อนชำระให้ลดลงกว่าเดิมด้วย
นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังได้เห็นชอบหลักการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับชาวนาอีกด้วย โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นการดูแลกลุ่มเกษตรกรด้วยการเพิ่มค่าครองชีพผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท โดยกระทรวงการคลังจะไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อเดินหน้าโครงการให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณในระยะยาว โดยอาจปรับกรอบรายละเอียดโครงการบางส่วน
ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลความจำเป็นของการหยิบยกโครงการการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ขึ้นมาอีกครั้งนั้น เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า กลุ่มเกษตรกรยังคงเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่ แม้ว่าในขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น แต่เกษตรกรหลายครอบครัวยังมีภาระหนี้อีกมาก รัฐบาลจึงมีแนวคิดเข้าไปดูแลให้ในระดับที่เหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เบื้องต้นจะเป็นโครงการที่เข้ามาดูแลเกษตรกรในระยะสั้น ส่วนในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรนั้น เร็วๆ นี้จะประกาศเงื่อนไขออกมาอีกครั้ง ขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลจะหาทางปรับโครงสร้างการเกษตรทั้งระบบใหม่ให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น
วันเดียวกัน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการขออนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.46 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป โดยนมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรซ์ ราคากลางเดิม 6.89 บาทต่อถุง ราคากลางใหม่ 7.35 บาทต่อถุง และนมโรงเรียนชนิดยูเอชที ราคากลางเดิม 8.13 บาทต่อกล่อง ราคากลางใหม่ 8.59 บาทต่อกล่อง
ทั้งนี้ การปรับราคาดังกล่าว เนื่องจากมีการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโคขึ้นกิโลกรัมละ 2.25 บาท จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.46 บาท คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนมีมติจึงเห็นชอบการปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียนและหากมีการปรับราคากลางนมโรงเรียน จะส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดซื้อนมโรงเรียน ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรุงเทพ มหานคร และเมืองพัทยา ต้องได้รับการอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม 777.44 ล้านบาท จัดซื้อนมโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียน 6,500,298 คน เป็นเวลา 260 วัน หน่วยงานที่มีงบประมาณไม่เพียงพอจะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป.