“ทนายแจม” ปูดโครงการอบรมอาสาตำรวจคนจีน เก็บค่าอบรมหัวละ 38,000 บาท มีตำรวจเป็นวิทยากร หลังจบหลักสูตรมอบเสื้อกั๊กตำรวจ บัตรอาสาตำรวจตั้งคำถามทำได้หรือไม่ บช.น.เต้น สั่ง บก.น.3 ตรวจสอบ แจงยิบมหาวิทยาลัยสยามประสานความร่วมมือขอวิทยากรให้ความรู้ด้านกฎหมายการแจ้งเหตุให้ นศ.ชาวจีน ส่งรอง ผกก.สส.บก.น.3 เป็นวิทยากร แต่ไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายหรือผลประโยชน์อื่น ตั้งรอง ผบก.น.3 ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โฆษก บช.น.แจงรับชาวต่างชาติเป็นอาสาตำรวจไม่ได้ เร่งตรวจสอบประเด็นเอาชื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอักษร CIB ไปใช้ ได้รับอนุญาตหรือไม่ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ม.สยาม แจงฝ่ายประสานงานนักศึกษาจีน อบรมล่ามภาษาจีนเพื่อช่วยประสานงานตำรวจ เพราะมี นศ.จีนจำนวนมาก แต่ไม่ได้เก็บเงิน 38,000 บาท อาจเป็นคนจีนต้มกันเอง กระทรวง อว.เต้น สั่ง ม.สยามชี้แจงโครงการกลับมาด่วน ทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และอยู่ในขอบเขตที่ควรทำหรือไม่ ยืนยันไม่นิ่งนอนใจ เร่งทำความจริงให้ปรากฏ หากพบไม่ถูกต้องจะจัดการทันที
กรณี X (ทวิตเตอร์) Sasinan Thamni thinan (JAM) ของ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน โพสต์ภาพการรับมอบประกาศนียบัตรจากชายแต่งชุดคล้ายตำรวจ พร้อมตารางหลักสูตรระบุว่า “ตำรวจท่านนึงส่งมาให้น่าสนใจค่ะว่าการอบรมอาสาตำรวจคนจีน มีค่าอบรมคนละ 38,000 บาทนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติกระทำได้หรือไม่อย่างไร? และค่าแรกเข้าอบรมเป็นรายได้เข้าส่วนไหน? ค่าใช้จ่ายจัดอบรมใช้งบประมาณส่วนใด? มีการใช้เครื่องหมายตำรวจตราแผ่นดินออกบัตรได้หรือไม่”
รวมทั้งแสดงตารางรายละเอียดการอบรมทั้ง 3 วัน วันที่ 25-27 ธ.ค.67 ในการอบรมมีทั้งการบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายไทย เรียนรู้การใช้รหัสวิทยุสื่อสารโดยนายตำรวจ ฝึกยิงปืน ดูการปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีตำรวจ และมีพิธีรับประกาศนียบัตรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดเลี้ยงฉลอง พร้อมทั้งรับหมวก เสื้อยืด เสื้อกั๊กตำรวจ เสื้อสะท้อนแสง ใบรับรองและบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ (มีอายุ 2 ปี) เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าจัดอบรมรุ่น 1 มีผู้เข้าร่วมหลายสิบคน ที่มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งใน กทม. ย่านฝั่งธนบุรี โดยมีตำรวจระดับ ผกก.และรอง ผกก. สังกัดกองสืบสวนสอบสวนนครบาลร่วมเป็นวิทยากร
ความคืบหน้าจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 2 ม.ค. มีรายงานว่า บก.น.3 รายงานชี้แจง พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น.ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชน กรณีมีการจัดอบรมนักศึกษาชาวจีน เพื่อเป็นอาสาสมัครตำรวจนั้น บก.น.3 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ปรากฏรายละเอียดดังนี้
1.ผกก.สส.บก.น.3 รายงานว่า มหาวิทยาลัยสยามจัดอบรมหลักสูตรแจ้งข่าวอาชญากรรม และให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองแก่นักศึกษาต่างชาติ โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรม และขอความร่วมมือจาก กก.สส.บก.น.3 เป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ความรู้ ผกก.สส.บก.น.3 เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงมอบหมายให้ พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รอง ผกก.สส.บก.น.3 เป็นผู้ประสานงาน โดยมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดการอบรม ใช้งบประมาณและสถานที่ตามที่มหาวิทยาลัยสยามกำหนด
2.จากการตรวจสอบทราบว่า มหาวิทยาลัยสยามมีหนังสือที่ 13DECC2567CHI1ac1 ลงวันที่ 13 ธ.ค.67 โดยมี ดร.หลี่ จาง (Dr.LI ZHANG) ผู้ช่วย
อธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นผู้ลงนามถึง ผกก.สส.บก.น.3 จัดทำโครงการฝึกอบรมนักศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม จำนวน 30 คน และขอความอนุเคราะห์จัดวิทยากรพิเศษบรรยาย โดยมี พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รอง ผกก.สส.บก.น.3 เป็นผู้ประสานงานและผู้ร่วม
พัฒนาร่างโครงการ โครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดอบรมและออกค่าใช้จ่าย และมีการออกใบประกาศเกียรติคุณลงวันที่ 27 ธ.ค.67 ให้แก่ผู้ผ่านการอบรมว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกแจ้งเหตุ ข่าวอาชญากรรม และการจราจร ด้านการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและประชาชน ลงนามโดย Dr.LI ZHANG ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม และ ผกก.สส.บก.น.3
3.ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ.2551 ผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน หรืออาสาจราจร ต้องผ่านการคัดเลือกจากสถานีตำรวจและสถานีตำรวจเป็นผู้จัดทำโครงการฝึกอบรม โดยมีการเกณฑ์การคัดเลือกจากผู้มีสัญชาติไทย และอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทยและมีถิ่นที่อยู่อาศัยอันเป็นปกติในเขตพื้นที่สถานีตำรวจ ต้องมีการรับรองจากบุคคลที่เชื่อถือได้หรือตำรวจรวม 3 คน ปฏิบัติหน้าที่ได้คราวละ 2 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยสยาม กก.สส.บก.น.3 ไม่ได้เป็นผู้จัดอบรมแต่อย่างใด
4.สำหรับการใช้เครื่องหมายราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ทำการตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตให้ใช้หรือไม่ อย่างไร อีกส่วนหนึ่ง และ 5.เบื้องต้น ผบก.น.3 มีคำสั่ง บก.น.3 ที่ 1/2568 ลง 2 ม.ค.68 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมี พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที รอง ผบก.น.3 เป็นประธาน หากพบว่ามีการกระทำผิดวินัย จะดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.นิเวชร์ งามลาภ ผกก.สส.บก.น.3 ที่ปรากฏลายเซ็นลงชื่อในใบรับรองประกาศนียบัตรให้ผู้ที่ผ่านการอบรมเปิดเผยว่า มีการอบรมดังกล่าวจริง ผู้อบรมเป็นนักศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัยสยาม เป็นนักศึกษาชาวจีน ต้องการเรียนรู้กฎหมายไทย ตำรวจทำหน้าที่เป็นวิทยากรและอบรมการใช้วิทยุสื่อสาร ส่วนเงินค่าอบรม 38,000 บาทไม่รู้เรื่องว่าเก็บค่าอะไร ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการ แต่น่าจะมีค่าใช้จ่ายเพราะเอกชนดำเนินการ
ส่วนกรณีแจกเสื้อกั๊ก ป้ายตราสัญลักษณ์ตำรวจ บัตรประจำตัว พ.ต.อ.นิเวชร์กล่าวว่า เป็นเหมือนกับแจ้งข่าวอาชญากรรม สมาชิกตำรวจบ้าน ผ่านการอบรมแล้วมหาวิทยาลัยดำเนินการขอความร่วมมือสนับสนุน และออกโดยตำรวจเพราะผ่านการอบรม สังกัดอยู่ บก.น.3 เขาจัดโครงการขึ้นมา ให้เราไปร่วมบรรยาย มีทนายความ ฝ่ายกฎหมายของอาจารย์ทางมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้ให้ทำงานอบรมให้เขารู้ว่าอยู่ในไทยเจอเหตุจีนเทา หรือมีอาชญากรรมสามารถแจ้งเบาะแสได้
ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น.ฐานะโฆษก บช.น. เผยว่า พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. กำชับให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด ตรวจสอบพบว่า มีหนังสือจากมหาวิทยาลัยสยามจัดโครงการอบรมหลักสูตรแจ้งข่าวอาชญากรรม และให้ความรู้การป้องกันตัวเองแก่นักศึกษาต่างชาติ มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมและขอความร่วมมือจาก กก.สส.บก.น.3 เป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ความรู้ ตำรวจเห็นว่าการจัดอบรบดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสังคม กก.สส.บก.น.3 เห็นว่า มหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดการอบรมใช้งบประมาณและสถานที่ตามที่มหาวิทยาลัยสยามกำหนด
“นอกจากนี้พบว่า มหาวิทยาลัยมีหนังสือมายัง บก.น.3 เลขที่ 13DECC2567CHI1ac1 ลงวันที่ 13 ธ.ค.67 โดย ดร.หลี่ จาง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นผู้ลงนามการจัดทำโครงการฝึกอบรมนักศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม 30 คน ขอความอนุเคราะห์จัดวิทยากรพิเศษบรรยาย โดยมี พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รอง ผกก.สส.บก.น.3 เป็นผู้ประสานงานและผู้ร่วมพัฒนาร่างโครงการ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นหนังสือจริงและออกถูกต้องหรือไม่ โครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดอบรมและออกค่าใช้จ่ายพร้อมออกใบประกาศเกียรติคุณ ลงวันที่ 27 ธ.ค.67 ให้ผู้ผ่านการอบรม ร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรมและการจราจรด้านการมีส่วนร่วมของ นศ.และประชาชน ลงนามโดย ดร.หลี่ จางและผกก.สส.บก.น.3” โฆษก บช.น.กล่าว
พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเรื่องระเบียบ ตร.ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ 2551 นั้น ผู้จะเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้านหรืออาสาจราจรต้องผ่านการคัดเลือกจากสถานีตำรวจและสถานีตำรวจเป็นผู้จัดทำโครงการฝึกอบรม มีเกณฑ์การคัดเลือกจากผู้มีสัญชาติไทยและอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทยมีถิ่นที่อยู่อาศัยอันเป็นปกติในเขตพื้นที่สถานีตำรวจ ต้องรับรองจากบุคคลที่เชื่อถือได้หรือตำรวจรวม 3 คน ปฏิบัติหน้าที่ได้คราวละ 2 ปี กรณีดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยสยาม กก.สส.บก.น.3 ไม่ได้เป็นผู้จัดอบรมแต่อย่างใด
“ส่วนการใช้เครื่องหมายราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการใช้สัญลักษณ์ตัวอักษร CIB ระบุว่า ตำรวจสอบสวนกลางเป็นหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตให้ใช้หรือไม่ หากพบว่าผู้ใดนำเครื่องหมายดังกล่าวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ 2482 ฐานใช้เครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่กำหนดเครื่องหมาย ตามมาตรา 6 ประกอบมาตรา 8 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท” โฆษก บช.น.กล่าว
พล.ต.ต.นพศิลป์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ บช.น.
ขอเรียนให้ทราบว่า การอบรมให้ความรู้การแจ้งข่าวอาชญากรรมและการป้องกันตัวเองแก่ประชาชน ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม สามารถขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป กฎหมายเบื้องต้น รวมทั้งทักษะการป้องกันตัวได้ แต่การเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้านหรืออาสาจราจร ต้องผ่านการฝึกอบรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีคุณสมบัติตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ 2551 เท่านั้น
ด้าน ผศ.เวทิต ทองจันทร์ รอง ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า เท่าที่ทราบฝ่ายประสานงานนักศึกษาจีนมีการอบรมล่ามภาษาจีนเพื่อช่วยประสานกับตำรวจ เพราะมหาวิทยาลัยสยามมีนักศึกษาจีนจำนวนมาก หากเกิดปัญหาล่ามอาสาเหล่านี้จะช่วยแปลภาษาให้ตำรวจให้เข้าใจได้ง่าย จึงเชิญตำรวจนครบาลมาช่วยอบรมจริง แต่ไม่ได้มีการเก็บเงินจำนวน 38,000 บาท จากการตรวจสอบเอกสารใบสมัครการฝึกอบรมอาสาตำรวจพบว่า โลโก้คล้ายกับมหาวิทยาลัยสยาม แต่ไม่เหมือน และที่มหาวิทยาลัยสยามไม่มีตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการนานาชาติ แถมยังใช้คำว่า “มหาลัยสยาม” หากเป็นเอกสารที่ออกจากทางมหาวิทยาลัยไม่น่าจะผิดพลาดขนาดนี้ อาจเป็นคนจีนต้มคนจีนกันเอง และอาจเป็นเอกสารปลอมที่ทำขึ้นมาเพื่อหลอกเก็บเงินเข้ากระเป๋ากันเอง
ต่อมา น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ฐานะโฆษกกระทรวง อว. เผยว่า หลังจากทราบข่าว น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. สั่งการให้นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ขณะนี้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว เพื่อให้ชี้แจงกลับมาโดยด่วน เช่น วัตถุประสงค์ของการจัดคอร์สอบรมว่าทำไปเพื่ออะไร อยู่ในขอบเขตที่ควรกระทำ หรือไม่ ขอยืนยันว่ากระทรวง อว.ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังเร่งทำความจริงให้ปรากฏ หากพบความผิดปกติหรือไม่ถูกต้อง กระทรวง อว.จะเข้าไปจัดการทันที