ปลาหมอคางดำ วาระแห่งชาติ “ธรรมนัส” ลุย ตากบ่อไว้ 2 เดือน ไข่ยังเป็นตัว

Author:

“ธรรมนัส” รับ 9 มาตรการ สมาคมการประมงฯ แก้ปัญหาการ แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ตั้ง “อรรถกร” เป็นประธานในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เตรียมชงเข้า ครม. 1 ส.ค.นี้ ดันเป็นวาระแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ปิ๊งไอเดียเล็งคุยเชฟคนดังผลักดันปลาหมอคางดำเป็นเมนูปลาร้า “ซอฟต์พาวเวอร์” คนอีสาน ด้านกรมประมงยังรับซื้อปลาหมอคางดำ กก.ละ 15 บาท โดยประสานการยางฯเปิด 49 จุดใน 14 จังหวัดที่มีการระบาด นำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพรดสวนยางกว่า 2 แสนไร่ เริ่ม 1 ส.ค.นี้ ส่วนผู้เลี้ยงสัตว์น้ำใน อ.อัมพวา สุดท้อ ยันปลาหมอคางดำกำจัดไม่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไข่ปลา” โคตรอึดถึกทน ตากบ่อสองเดือนจนดินแตกระแหง ยังฟื้นกลับมาฟักเป็นตัวได้เมื่อมีน้ำเข้ามา

จากกรณีที่พบปลาหมอคางดำระบาดใน จ.สมุทรสงคราม และระบาดไป 17 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มีมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำรวมทั้งปล่อยปลานักล่า โดยเฉพาะปลากะพงไปกินปลาหมอคางดำนั้น ต่อมาเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.ค.ที่สมาคมการประมงสมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กษ.เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.กษ. นายประยูร อินสกุล ปลัด กษ. นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงผู้บริหาร กษ. และผู้แทนสมาคมการประมงจาก 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมประชุม ซึ่ง รมว.กษ.ได้รับข้อเสนอจากสมาคม ใน 9 มาตรการ อาทิ การกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ การจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับชาวประมง และการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด เป็นต้น และมอบหมายกรมประมงนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และให้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.กษ.เป็นประธานในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ พร้อมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ กรมประมงได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนผ่าน 5 มาตรการสำคัญ คือ 1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 2) การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 3) การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ 4) การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน และ 5) การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ

นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และประสานความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้กรมประมงรวบรวมแพปลาที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) กับกรมประมง ในพื้นที่ที่มีการระบาด 14 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมทั้งสิ้น 49 จุด จัดตั้งเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ การันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดำที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางฯ นำไปแจกเกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในสวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยจะเริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป

สำหรับ จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีรายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นที่แรก และมีการระบาดมากที่สุด จึงมีการขับเคลื่อนการดำเนินการตาม 5 มาตรการสำคัญ จนสามารถกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานปลาป่นและผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องได้มากกว่า 500 ตัน ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดมากที่สุด โดยกรมประมงมีการนำร่องจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย (1) แพธนูทอง โทร. 08-0464-6479 (2) แพนางจารุจันทร์ จารวิไพบูลย์ (แพมิตร) โทร. 08-7364-7298 (3) นายชัยพร กรุดทอง (บอย) โทร. 06-2658-5323 (4) นายเฉลิมพล เกิดปั้น โทร. 08-7171-4414 และ (5) แพนายวิชาญ เหล็กดี โทร. 08-7740-7525 นอกจากนี้ ประชาชนสามารถแจ้งพิกัดที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลาที่

จากนั้น รมว.เกษตรฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ โดยสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครประสานในการรับซื้อปลาหมอคางดำสำหรับผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) จำนวน 4,000 ลิตร แจกให้ประชาชนในพื้นที่ กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก ฝรั่ง ลำไย มะพร้าวน้ำหอม และพลู คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมกว่า 533 ไร่ อีกด้วย

“กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเสนอปัญหาดังกล่าวเข้าเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธาน เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมต่างๆด้านประมง ร่วมเป็นคณะกรรมการในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตามประกาศกรมประมง เรื่อง ประชาสัมพันธ์ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รมว.เกษตรฯกล่าว

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัสยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า สังเกตว่าขณะนี้มีการจับปลาหมอคางดำไซส์เล็กลงคิดว่าดำเนินการมาถูกทางแล้ว จะเดินหน้าปล่อยปลากะพงขาวต่อไป แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนการช็อตไฟฟ้าขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย ทั้งนี้ ยังเตรียมพูดคุยกับเชฟชุมพล ผลักดันปลาหมอคางดำให้เป็นเมนูปลาร้า ซอฟต์พาวเวอร์คนอีสาน เพื่อสร้างมูลค่าและมีแนวคิดที่จะนำเมนูที่ทำจากปลาหมอคางดำไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลิ้มลองรสชาติ คาดว่าประมาณสัปดาห์หน้า

ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงการพบปลาหมอมายันใน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ปะปนกับปลาหมอคางดำว่า กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เมื่อมีผลอย่างไร จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พื้นที่เคยมีปลาหมอคางดำระบาดหนักมาก่อน โดย นายวัลลภ ขุนเจ๋ง อายุ 59 ปี เจ้าของบ่อเลี้ยงปลากะพง ต.แพรกหนามแดง ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยทำบ่อเลี้ยงกุ้ง 520 ไร่ แต่ปี 2554 ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด ได้หันมาทดลองเลี้ยงปลากะพงในบ่อ 20 ไร่ 5,000 ตัว เป็นบ่อปิด แต่เมื่อครบกำหนดจับปลากะพงเหลือไม่ถึง 1,000 ตัว แต่ได้ปลาหมอคางดำ 9 ตัน จึงรู้ว่าปล่อยปลากะพงขนาด 3-4 นิ้ว สู้กับปลาหมอคางดำไม่ไหว จากนั้นทดลองทำบ่อใหม่ ปล่อยปลากะพงหลายขนาดทั้ง 4 นิ้ว 7-8 นิ้ว ได้ข้อสรุปว่าปลากะพงกินปลาใหญ่กว่ามันไม่ได้ และกินปลาที่เล็กมากๆไม่ได้ ที่กรมประมงบอกว่าปล่อยปลากะพงมากินไข่ กินลูกตัวเล็กๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวผู้มันอมไข่ ปลากะพงจะกินยังไง อีกทั้งในธรรมชาติในคลองมีกอไม้ ต้นไม้ ที่หลบของปลาหมอคางดำเยอะ ปลากะพงคงเข้าไปกินลำบากตนไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยขนาด 2-3 นิ้ว ปลากะพงจะกินสิ่งที่อ่อนแอกว่าเท่านั้น ถ้าแข็งแรงกว่า มันไม่กินแน่นอน

นายวัลลภยังกล่าวถึงรัฐบาลจะรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท ว่าเมื่อหลายปีมาแล้วที่มีการระบาด 4 ตำบล 2 จังหวัด ที่ จ.สมุทรสงคราม รับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท แต่ต้องขึ้นทะเบียนประมง ในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่รับซื้อและยังจำกัดเวลารับซื้อแค่ 2 วันในเวลาราชการ บ่อหลาย 10 บ่อ หลายร้อยไร่ ให้จับมาขายพร้อมกันจะเอาแรงงานที่ไหน ขึ้นปลาไม่ทันก็ปล่อยทิ้งไว้ในบ่อ และขยายพันธุ์เพิ่มจนระบาดในปัจจุบัน ตอนนั้นถ้ารับซื้อหมดทั้งในบ่อและแหล่งน้ำธรรมชาติ มันไม่ระบาดขนาดนี้ ดังนั้นต้องเปิดรับซื้ออย่างไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งไม่จำกัดเวลา

เช่นเดียวกับนายณัฏฐพล เข็มกำเนิด เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในหมู่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา ยืนยันว่าเมื่อ 10 ปีก่อน สามารถจับปลาพื้นถิ่น เช่น กุ้ง ปลากระบอก ปลาดุก ปลาหมอเทศ และปลาธรรมชาติ แต่ปี 2554 ตั้งแต่ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด มันกินลูกกุ้ง ลูกปลาจนหมด ผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงสัตว์น้ำเจ๊งหมด และที่ผ่านมาเคยสู้กับปลาหมอคางดำ โดยการจับปลาขึ้นให้หมดตากบ่อกว่า 2 เดือน จนดินแห้งแตกระแหงเป็นฝุ่น แล้วนำรถแบ็กโฮเข้าไปดันบ่อปรับพื้นแต่งบ่อใหม่ทั้งหมด และตากบ่อต่ออีก คิดว่าจะฆ่าปลาหมอคางดำให้หมด แต่เมื่อฝนตกลงมา กลับพบลูกปลาหมอคางดำจำนวนมาก ซึ่งสรุปว่าปลาหมอคางดำมันคายไข่ทิ้งไว้ในบ่อ มันทนมาก ทนแดด พอมีน้ำเข้ามาก็ฟักเป็นตัวกลับมาอีก ตนสู้มันไม่ได้ มันไม่ยอมตาย จึงอยากฝากเตือนนักวิชาการว่าสิ่งที่น่ากลัวของปลาหมอคางดำอีกอย่างคือไข่ เพราะแม้ตัวมันตาย แต่จะคายไข่ไว้ เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน เวลามันถูกจับมันจะคายไข่ทิ้งไว้ เลยฆ่ามันไม่หมด เราสู้มันไม่ได้จริงๆ และไม่มีหนทางที่จะกำจัดจริงๆ

ทั้งนี้ นายณัฏฐพลยืนยันว่าปัญหานี้มาจากบริษัทเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะตนเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ใกล้บริษัทนั่นแหละ อยู่ห่างกันไม่เกิน 400 ม. น้ำในคลองมาถึงกันหมด ในอดีตปลาหมอคางดำไม่มี เพิ่งจะพบในคลองเมื่อปี 2554 และเริ่มเยอะจนระบาดหนักในปัจจุบันที่ผ่านมาชาวบ้านลงทุนทำบ่อ 100 ไร่ เป็น 10 ล้าน แต่ปัจจุบันเขาเลี้ยงอะไรไม่ได้แล้ว เจ๊งหมด เดือดร้อนกันหมด จึงฝากถึงบริษัทเอกชนให้รับผิดชอบช่วยเหลือเยียวยา สำรวจในพื้นที่มีกี่บ่อ กี่ไร่ แล้วมาตกลงกันว่าจะช่วยเหลือเยียวยาเท่าไหร่ คือให้เงินมา แล้วต่อไปนี้คงต้องอยู่กับหมอคางดำให้ได้ เพราะฆ่ามันไม่ได้จริงๆ ลองหลายวิธีทั้งเปิดน้ำ ทำบ่อใหม่ตากแดด ตนสู้กับปลาหมอคางดำมา 4-5 ปี ไม่ชนะมัน จึงถอดใจแล้ว และตั้งข้อสงสัยว่าที่บริษัทเอกชนแจ้งว่าได้ฝังกลบปลาหมอคางดำแล้ว บริษัทจ้างใครไปฝังกลบ ตนไม่เชื่อ เพราะในอดีตใน จ.สมุทรสงคราม มีตนเป็นเจ้าของรถแบ็กโฮ 1 ใน 2 รายของจังหวัดเท่านั้น และตนเคยเข้าไปทำงานในบริษัทดังกล่าวเป็นประจำ ทั้งกดเข็ม แต่งบ่อ จึงไม่เชื่อว่ามีการฝังกลบซากปลาหมอคางดำ หรือถ้าเป็นจริงอาจจะเป็นไปได้ว่าไข่ปลามันต้องออกมากับน้ำ จึงคิดว่าตรงนี้คือแหล่งกำเนิด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *